ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าท่าอากาศยานเบตงเปิดให้บริการได้ในปี 2563

ยะลา – ผู้บัญชาการทหารบก ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าท่าอากาศยานเบตง ระบุ ท่าอากาศยานเบตง มีความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้วเสร็จไปกว่า 88 เปอร์เซ้นต์

 

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.62 ที่ท่าอากาศยานเบตง ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา พลเอก‎อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยพลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พันจ่าอากาศโทอนันต์ บุญสำราญ นายอำเภอเบตง ผู้บังคับหน่วยงานด้านความมั่งคงในพื้นที่ พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ติดตามความคืบหน้าในการก่อสร้าง สนามบินเบตง

พลเอก‎อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้รายละเอียดกับผู้สื่อข่าวว่าการก่อสร้างสนามบินเบตง ปัจจุบัน ในส่วนของรันเวย์ กับอาคารผู้โดยสารนั้นคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในช่วงเดือนตุลาคม แต่ในส่วนของหอบังคับการบินและศูนย์อุตุนิยมวิทยาที่มีความจำเป็นมากในการคำนวณสภาพอาการและทิศทางลม ของการขึ้นลงจอดของเครื่องบินนั้น เพิ่งจะได้รับการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างขณะนี้ดำเนินการปรับพื้นที่ในการก่อสร้างหอบังคับการบินและศูนย์อุตุนิยมวิทยา

สำหรับส่วนยอดนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2560 ที่มีนักท่องเที่ยว มาเลเซีย ยะลา มาเที่ยวที่เบตง ปีละประมาณ 8 แสนคน แต่คาดว่าเมื่อท่าอากาศยานนานาชาติเบตง เปิดใช้อย่างเป็นทางการ คาดมีนักท่องเที่ยวเพิ่มกว่า 1 ล้านคน โดยทางอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ได้จัดเตรียมที่พัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันช่วงเทศกาล ที่พัก ที่มีกว่า 4,000 ห้อง ก็เต็มตลอด สำหรับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา แห่งนี้ ได้มีมติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบให้ก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ในกรอบวงเงิน 1,900 ล้านบาท ระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้าง 3 ปี ในพื้นที่ จำนวน 920 ไร่ สัญญาการก่อสร้างดำเนินการ ใน 2 ส่วน คือ

การก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน ระบบไฟฟ้าสนามบิน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 และสัญญาที่ 2 คือ การก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร และอาคารประกอบในสนามบิน โดยมีการตบแต่งสถาปัตย์โดยใช้ไม้ไผ่ที่สื่อถึงอำเภอเบตง ซึ่งโครงการจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2562 คาดว่าสามารถเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตงได้ในปี 2563 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนี้ในเรื่องเส้นทางท่องเที่ยว หวังให้มีการเชื่อมโยงระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคใต้ ที่อาจจะเป็นอีกทางเลือกก็คือ เส้นทางบินหาดใหญ่-เบตง-ปีนัง-กัลลาลัมเปอร์ หรือ ภูเก็ต-หาดใหญ่-เบตง ที่จะเป็นการเชื่อมเมืองส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางเลือกหนึ่ง

สำหรับสายการบินที่จะทำการบินมายังท่าอากาศยานเบตงนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปอยู่ระหว่างหารือกับ 2 สายการบินสัญชาติไทย คือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ และสายการบินนกแอร์ ซึ่งทั้ง 2 สายการบินสนใจทำการบิน โดยเดือนพฤษภาคมนี้ จะเชิญทั้ง 2 สายการบินลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างสนามบินเบตง รวมทั้งสำรวจตลาดทั้งผู้โดยสารและแหล่งท่องเที่ยวใน อ.เบตง คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมจะได้ข้อสรุปว่าสายการบินใดเปิดทำการบิน และให้บริการเส้นทางใดบ้าง